Secretary: โควต้านักฟุตบอลอาเซียน

ตามที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศเพิ่มโควต้านักฟุตบอลอาเซียน เป็น 3 คน ในปี 2019 เมื่อนำไปรวมกับนักฟุตบอลต่างชาติและนักฟุตบอลเอเชีย ที่ลงทะเบียนและส่งลงสนามได้ 3+1 คน แล้ว ทำให้แต่ละสโมสรสามารถส่งนักฟุตบอลต่างชาติลงสนามได้สูงสุดถึง 7 คน ต่อ 1 แม็ตช์การแข่งขัน

เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปทั่ววงการฟุตบอล เนื่องจากถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการฟุตบอลไทย และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหัน ทั้งที่ตามแผนโร้ดแม็ปของสมาคมฟุตบอลฯ เพิ่งจะประกาศไปเมื่อปีที่แล้วว่าจะให้สิทธินักฟุตบอลอาเซียนลงสนามเพิ่มเติมจากปี 2018 เพียง 1 คน (3+1+1)

เมื่อเรานำมาวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสีย ของการเพิ่มโควต้านักฟุตบอลอาเซียน 3 คน ในปี 2019 รวมถึงพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตแล้ว สามารถนำมาเป็นข้อสรุปได้ดังนี้

ข้อดี :
1. เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาซื้อ จะช่วยให้แต่ละสโมสรมีเงินทุนเข้ามาพัฒนาสโมสรได้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะปัจจุบันก็ยังไม่มีชาติใดมาซื้อลิขสิทธิ์
2. แฟนคลับอาเซียนจะเข้ามาชมเกมในสนามมากขึ้น เช่น โปลิศ เทโร ที่ได้แฟนคลับชาวพม่าเข้ามาสร้างสีสรรเพิ่มขึ้น หลังจากเซ็นสัญญา อ่องทู เข้ามา
3. หากสโมสรเลือกใช้ผู้เล่นอาเซียนแท้ๆ เช่น พม่า, เวียดนาม, ลาว, เขมร ฯลฯ การแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งลงสนามกับนักฟุตบอลไทย ยังไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะความสามารถของนักฟุตบอลไทยยังสูงกว่า
4. ค่าตัว, เงินเดือนของนักฟุตบอลไทยจะถูกลง ไม่เฟ้อเกินความเป็นจริงอย่างปัจจุบัน เนื่องจากแต่ละสโมสรสามารถเลือกใช้นักฟุตบอลอาเซียนมาทดแทนได้

ข้อเสีย :
1. หากแต่ละสโมสรมุ่งเน้นความเป็นเลิศ มุ่งเน้นการเอาชนะ โดยเลือกใช้นักฟุตบอลอาเซียนที่เป็นลูกครึ่ง หรือ โอนสัญชาติ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสโมสรใหญ่และสโมสรเล็กมีมากขึ้น
2. นักฟุตบอลไทยจะได้รับโอกาสในการลงสนามน้อยลง เพราะแต่ละแม็ตช์การแข่งขัน สามารถใช้นักฟุตบอลต่างชาติลงสนามได้เต็มที่ถึง 7 คน
3. ผลกระทบโดยตรงต่อทีมชาติไทย นักฟุตบอลบางตำแหน่งอาจหายากมากขึ้น เพราะแต่ละสโมสรจะหันไปใช้บริการนักฟุตบอลต่างชาติ เช่น ศูนย์หน้า, เซ็นเตอร์แบ๊ค ฯลฯ

CrazyGang